จากประกาศราชกิจจานุเบกษา ห้ามการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในร้านอาหารทั้งหมดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. 64 ซีอาร์จี จึงจัดกลยุทธ์เร่งการขายทั้งในช่องทางเดลิเวอรี่และออนไลน์ มุ่งสร้างยอดขายฝ่าวิกฤต
ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ ซีอาร์จี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการประกาศจากภาครัฐที่ห้ามการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล กระทบต่อธุรกิจร้านอาหารมากกว่าทุกครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพราะเป็นการกระทบต่อเนื่องในระยะเวลานาน เนื่องด้วยช่องทางการรับประทานในร้าน (Dine in) เป็นช่องทางรายได้หลัก ของธุรกิจร้านอาหารทั้งรายเล็ก ไปจนถึงรายใหญ่ และด้วยครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ให้ปิดบริการที่หน้าร้าน และร้านอาหารของ ซีอาร์จี กว่า 50% อยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
จึงพร้อมปรับตัวรับสถานการณ์ มุ่งดำเนินแผนงานที่เคยวางไว้ โดยปรับให้มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นในด้านหลักๆ คือ ด้านการบริหารจัดการต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เหมาะสม และด้านการเพิ่มยอดขายเพื่อมาชดเชยรายได้ในส่วนที่หายไป จึงเร่งหาช่องทางอื่นที่เพิ่มรายได้ ทั้งในช่องทางเดลิเวอรี่ และออนไลน์ อาทิ เน้นช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์, พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการเดลิเวอรี่ อาทิ เมนูแกร็บ แอนด์ โก (Grab & Go), เทคโฮม (Take home) และสินค้าพร้อมทาน (RTE product) เพื่อสะดวกต่อการรับประทานอาหารที่บ้าน อีกทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตร Aggregator ชั้นนำทุกรายอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างวาไรตี้ด้านเมนู และโปรโมชั่นต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นยอดขาย
ขณะเดียวกันก็ขานรับนโยบายรัฐ ระดมพลังแบรนด์ดังในเครือทุกแบรนด์เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2564 เพียงใช้ G-Wallet ชำระค่าอาหาร และเครื่องดื่ม (เฉพาะทานที่ร้านหรือซื้อกลับบ้าน) ที่ร้านอาหารในเครือซีอาร์จี ทั้ง 17 แบรนด์ จำนวนกว่า 1,100 สาขา ทั่วประเทศ (ยกเว้นสาขาในฟู้ดคอร์ท) นอกจากนี้ ยังจัดโปรโมชั่นพิเศษเพิ่มความคุ้มค่ากระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมรับเงินคืน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาท และยังสามารถนำ E-Voucher กลับมาใช้จ่ายที่ร้านได้อีกต่อ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. – 31 ธ.ค. 2564
สำหรับในด้านพนักงาน ยืนยันพร้อมดูแลพนักงานของเราทั้งหมดให้ดีที่สุด ทั้งในเรื่องรายได้ตามความเหมาะสม, การให้พนักงานส่วนสำนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home), การจัดสรรวัคซีนแก่พนักงาน รวมทั้งแผนประกันภัยโควิด-19 ในกรณีพบติดเชื้อและคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่พนักงานทุกคน
อีกทั้งยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยร้านอาหารในเครือซีอาร์จี 13 แบรนด์ 999 สาขา ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA : Safety and Health Administration ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และยังคงเข้มงวดในเรื่องของมาตรการความปลอดภัย ให้ไกลห่างโรคโควิด-19 ด้วยแผน 3C คุมเข้มที่ร้านอาหารในเครือซีอาร์จีทุกสาขาทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1) Cleanliness Procedure คัดกรองอย่างเข้มงวด รักษาความสะอาดทุกขั้นตอน 2) Consideration of Social Distancing Measures เน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และ 3) Contactless Service การให้บริการแบบไร้สัมผัส เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการทุกคน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ได้หลักๆ คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลายเพื่อรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามเราทุกคนคงต้องอยู่กับสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้ รวมทั้งขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกท่านที่ต่างก็โดนพิษโควิด-19 ซึ่งต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด สำหรับซีอาร์จี เราก็นำประสบการณ์จากผลกระทบที่ได้รับ มาเรียนรู้จนได้เป็นบทเรียนสำคัญ คือ 1) การรักษากระแสเงินสดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ทั้งค่าแรง ค่าเช่า รวมถึงควบคุม waste ให้ดี 2) คิดหรือพัฒนาโมเดลใหม่ๆ โดยการต่อยอดจากสิ่งที่มี เพื่อรองรับข้อจำกัดต่างๆ และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป 3) การนำเทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ อย่างในแง่ธุรกิจร้านอาหารก็มี เดลิเวอรี่ ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลักที่จะสามารถช่วยสร้างยอดขายได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ได้โดยเร็ว” คุณณัฐ กล่าวในตอนท้าย