ดิจิทัลแบงกิ้ง อาจจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าวงการการเงินของบ้านเรา แต่แพลตฟอร์ม แบงกิ้ง จะเป็นตัวที่จะเข้ามาเขย่าตลาด ที่จะทำให้สามารถขยายฐานเข้าไปยังกลุ่มลูกค้า ที่ไม่มีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างรออยู่ เพราะ ปัจจุบัน พบว่า มีคนไทย 37.9 ล้านคน มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ รวมกันทั้งสิ้น 80.2 ล้านบัญชี เฉลี่ยแล้ว 1 คน มีบัญชีเงินฝาก 2.2 บัญชี นั่นก็หมายถึงว่า อีกเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก
คุณธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด
หากมองเข้ามาที่ความหมายของคำว่า แพลตฟอร์ม แบงกิ้งแล้ว จากการให้คำจำกัดความของเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง คุณธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด มันก็ คือ การที่แพลตฟอร์มใด แพลตฟอร์มหนึ่งมีคนใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต่อยอดมาสู่การสร้างอีโคซิสเท็ม เพื่อทำธุรกิจทางการเงิน
ทำให้เราได้เห็น แพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก ต่างหันมาธุรกิจทางการเงินกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไลน์ ที่มีฐานคนใช้งาน 49 ล้านคน มีการร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว LINEBK เมื่อรวมกับฐานลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยอีก 17 ล้านบัญชี ทำให้ LINEBK มีฐานลูกค้ารวมกันถึงกว่า 60 ล้านราย ซึ่งถือว่า เป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่สามารถต่อยอดสู่การทำธุรกิจทางการเงินได้เป็นอย่างดี
เนื่องจาก LINEBK จะเป็นการร่วมทุนกับธนาคารพาณิชย์ จึงให้บริการในรูปแบบที่แบงก์พาณิชย์ทำ แต่จะเน้นในเรื่องของความสะดวก และง่ายในการเข้าถึง แน่นอนว่า การมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก ทำให้มีดาต้าอยู่ในมือที่สามารถนำมาวิเคราะห์ และต่อยอดไปสู่การให้บริการทางการเงินได้ อาทิ การปล่อยกู้ให้กับคนที่อยู่ในอีโคซิสเท็มของไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า หรือไรเดอร์ ที่ส่งอาหาร เป็นต้น
คุณธนา โพธิกำจร บอกว่า หลังจากเปิดตัวเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีจำนวนลูกค้า 2.8 ล้านคน มีธุรกรรมการเงิน 50,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีธนาคารกสิกรไทยที่ผูกผ่านไลน์บีเค 3.5 ล้านบัญชี มีจำนวนผู้มาเปิดบัญชี 53,000 บัญชี มีจำนวนผู้ใช้บัตรเดบิต 1.4 ล้านใบ ด้านสินเชื่อปัจจุบันมียอดคงค้างประมาณ 9,000 ล้านบาท จากจำนวนคำขอสินเชื่อ 4 ล้านครั้ง เป็นจำนวนลูกค้า 2 ล้านราย อนุมัติ 350,000 ราย มียอดวงเงินเบิกใช้ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนของพอร์ตนั้น เป็นส่วนของลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ 59% และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ 41% สอดคล้องกับเป้าหมายบริษัทที่อยากให้ LINE BK เป็นบริการทางการเงินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ปลดล็อกข้อจำกัดให้กับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำและไม่มีสลิปเงินเดือน
“เราจะยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การเงินในชีวิตประจำวันที่สะดวกและปลอดภัย ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้ LINE BK ขึ้นเป็น 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำด้านธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ พร้อมมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตบริการทางการเงินรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการมากยิ่งขึ้น เช่น บริการด้านการประกัน และการลงทุน”
การปล่อยสินเชื่อดิจิทัล กลายเป็นอีกสมรภูมิที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดให้ขออนุญาตประกอบธุรกิจ ‘สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล’ (digital personal loan) ที่เป็นการปล่อยกู้วงเงินขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 หมื่นบาท ชำระคืนภายใน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% เปิดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาปล่อยสินเชื่อโดยการใช้ข้อมูลทางเลือกมาใช้ในการให้บริการ และได้อนุมัติผู้ประกอบการไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อไปแล้วในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเห็นปริมาณธุรกรรมว่ามีมากน้อยระดับใดภายในเดือน พ.ค. เนื่องจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจจะต้องมีการรายงานธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับทุกเดือน
บรรดาแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ต่างขยับเข้ามาทำตรงนี้กันหลายรายในรูปแบบของนอนแบงก์ เพื่อปล่อยสินเชื่อที่เป็นการมองถึงการต่อยอดจากอีโคซิสเท็มที่สร้างขึ้น อย่างในกรณีของช้อปปี้ ที่มีการแตกบริษัทลูกคือ ซีมันนี่ ซึ่งได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อได้
แน่นอนว่า การมีอีโคซิสเท็มที่แข็งแกร่งในฐานะของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นที่มาของการมีดาต้าที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของคนไทย รวมถึงข้อมูลในการทำธุรกิจของคู่ค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์ม สามารถนำมาต่อยอดในการทำธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
การปล่อยสินเชื่อบุคคลของช้อปปี้นั้น เป็นบริการที่เรียกว่า ‘เอสเพย์เลเทอร์’ ไม่ใช่สินเชื่อเงินสดหรือเงินโอน แต่ให้สินเชื่อสำหรับซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ผ่านแพลตฟอร์มของช้อปปี้เท่านั้น
บริการนี้เปิดมาตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า ‘ช้อปปี้เพย์เลเทอร์’ (Shopee PayLater) ลูกค้าสามารถเลือกชำระได้ 2 รูปแบบ คือ ‘ช้อปตอนนี้ จ่ายทีหลัง’ (Buy Now Pay Later) คือรับสินค้าวันนี้แล้วชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป และ ‘ผ่อนชำระ’ (Installment) แบ่งจ่ายเลือกได้สูงสุด 3 เดือน เป็นต้น
นอกจากช้อปปี้แล้ว ยังมีอิออน ที่เข้าไปร่วมทุนกับ ‘แรบบิท กรุ๊ป’ ในเครือบีทีเอส และ ‘ฮิวแมนิก้า’ ตั้งบริษัท ‘แรบบิท แคช’ เพื่อปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเบื้องต้นทำตลาด 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีรายได้ไม่ชัดเจน และกลุ่มพนักงานองค์กรที่มีรายได้ประจำ โดยกลุ่มพ่อค้าแม่ค่าออนไลน์จะทำธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต ‘สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์’ โดยหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้วงเงินจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 33% ขณะที่กลุ่มพนักงานองค์กร จะเป็นโปรดักท์การปล่อยสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยผ่านบัญชีเงินเดือน (payroll) ของฮิวแมนิก้า
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการอาศัยจุดแข็งของพันธมิตรเข้ามาร่วมในการทำตลาด โดยอิออนจะช่วยดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการเก็บหนี้ ส่วนทางกลุ่มบีทีเอสจะรับผิดชอบเรื่องของการตลาดทั้งหมด ความน่าสนใจก็คือ ตัวแรบบิทเอง ในฐานะแพลตฟอร์มเพย์เมนต์รายใหญ่ที่มีฐานคนใช้บริการ รวมถึงร้านค้าพันธมิตรอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถนำมาต่อยอดในการปล่อยสินเชื่อได้เป็นอย่างดี
เป็นอีกภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของตลาดการเงินของบ้านเราที่สู้กันด้วยอีโคซิสเท็มที่แข็งแกร่ง และการมีดาต้าอยู่ในมือที่พร้อมจะนำมาต่อยอดการทำตลาดได้ตลอดเวลา.....