ภายหลังจากที่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งปีที่แล้ว ชาวเมียนมาหลายแสนคนในหลายเมืองใหญ่ได้ออกมารวมตัวกันประท้วงต่อต้านกองทัพ และนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ชาวเมียนมาเสียชีวิต และถูกจับกุมคุมขังหรือดำเนินคดี ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ ที่ชัดเจนที่สุดคือสหรัฐอเมริกาซึ่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีให้ดำเนินการคว่ำบาตรแกนนำก่อรัฐประหาร รวมถึงสมาชิกในครอบครัว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
โดยออกประกาศแบนบริษัทที่เกี่ยวกับอัญมณีและหยก 3 บริษัท ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co. และในวันที่ 8 เมษายน 2564 สหรัฐฯสั่งห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัท Myanmar Gems Enterprise ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2564 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Pearl Enterprise (MPE) บริษัทผู้ผลิตมุกซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเมียนมา รวมถึงสหราชอาณาจักรก็ได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Gems Enterprise อีกด้วย
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เมียนมา
พลอยก้อนเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเมียนมามาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไปพลอยสีจากเมียนมาไหลเข้ามายังไทยมี 2 รูปแบบ คือ แบบถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบนำเข้า ซึ่งการที่พ่อค้าเมียนมานำพลอยสีเข้ามาขายแบบถูกกฎหมาย ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น พ่อค้าเมียนมาส่วนหนึ่งจึงลักลอบนำพลอยสีมาขายในไทยผ่านชายแดนไทย-เมียนมา จึงทำให้ตัวเลขการนำเข้าส่งออกพลอยสีระหว่างไทยและเมียนมาที่ปรากฎอย่างเป็นทางการมีมูลค่าค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างคาดการณ์ว่าการค้าพลอยสีที่แท้จริงของทั้งสองประเทศน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขที่ปรากฎอยู่หลายเท่าตัว
นับตั้งแต่สหรัฐฯยกเลิกกฎหมาย Jade Act 2008 ในเดือนตุลาคม 2559 การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เมียนมาก็เพิ่มสูงขึ้น โดยไทยนำเข้าสินค้าหลักคือ พลอยสีจากเมียนมาเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ก่อนจะเริ่มลดลงในปี 2563 เนื่องจากดีมานต์พลอยสีของตลาดโลกลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564 ไทยนำเข้าพลอยสีจากเมียนมา เพิ่มขึ้นถึง 106% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เฉพาะเดือนมีนาคมปีนี้นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 296% คาดว่าเพื่อสต๊อกเก็บไว้ ด้วยเกรงว่าอาจนำเข้าได้ยากขึ้นหากเหตุการณ์ในเมียนมายังคงรุนแรงต่อไป
จากเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยังคงปะทุอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจการห้างร้านต้องปิดชั่วคราว แรงงานหยุดงานในหลายพื้นที่ การขนส่งไม่คล่องตัว รวมถึงสถาบันการเงินมีการกำหนดเงื่อนไขในการเบิกจ่าย อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทัพ เมียนมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือออกมาตรการจำกัดการนำเข้าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทย-เมียนมาแต่อย่างใด ดังนั้นการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับเมียนมา จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ อย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้
การค้าพลอยสีหลังรัฐประหารในเมียนมา
เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ที่สหรัฐฯและสหราชอาณาจักรประกาศคว่ำบาตรไม่ทำธุรกรรมการค้ากับบริษัทอัญมณีและหยกของเมียนมา หากแต่ธุรกรรมการค้าเหล่านี้ของเมียนมาก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัท Myanmar Gem Enterprise ของรัฐบาลทหารยังคงจัดงานประมูล Myanmar Gems Emporium ขึ้นในช่วงวันที่ 1 – 10 เมษายน 2564 ณ กรุงเนปิดอว์ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าโดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเดินทางมาร่วมประมูลถึง 3,000 คน โดยจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าหยกรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา ราว 99% ของหยกเมียนมาถูกจำหน่ายเข้าไปยังตลาดจีนซึ่งมีกำลังซื้อสูงและนิยมบริโภคหยกมากที่สุดในโลก และเนื่องจากรัฐบาลจีนไม่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมาด้วยแล้ว การค้าอัญมณีและหยกระหว่างจีนและเมียนมาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น
เนื่องจากเมียนมาเป็นแหล่งผลิตพลอยสีหลากหลายชนิดรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่เหตุการณ์ความไม่แน่นอนในขณะนี้ ทำให้ผู้ค้าพลอยสีทั่วโลก ต่างคาดว่าปริมาณพลอยสีจากเมียนมา อาจจะออกมาสู่ตลาดโลกน้อยลง โดยเฉพาะทับทิมสีเลือดนก และทับทิมที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ทับทิมจากเมียนมา ยิ่งมีราคาสูงมากขึ้น อีกทั้งเกรงว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อาจออกมาตรการห้ามนำเข้าพลอยสีจากเมียนมาในทุกกรณีในอนาคต หลายประเทศจึงได้เร่งนำเข้าจากพลอยสีจากเมียนมาเพื่อเก็บสต๊อกไว้
แต่ขณะเดียวกัน ผู้ค้าในหลายประเทศอาจยังมีกำลังซื้อจำกัด เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า จึงอาจหันไปนำเข้าพลอยสีที่มีคุณภาพดีแต่ราคาต่ำกว่าจากแหล่งอื่นแทนอย่างประเทศในแถบแอฟริกา เช่น มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เป็นต้น และอาจผลักดันให้พลอยสีจากแหล่งผลิตสำคัญในทวีปแอฟริกามีราคาสูงขึ้นได้
สำหรับประเทศไทย นั้นปัจจุบันพลอยก้อนของเมียนมายังคงไหลเข้ามาในไทยได้ตามปกติ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการปรับปรุงคุณภาพ และเจียระไนพลอยสีที่สำคัญของโลก และแม้ว่าไทยจะไม่สามารถส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้แต่มีความเป็นไปได้สูงที่พ่อค้าจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และนิยมทับทิมจากเมียนมาก็พร้อมที่จะรับซื้อพลอยสำเร็จเหล่านี้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยอาจมีภาระเพิ่มเติมด้านเอกสารหลักฐานที่ต้องแสดงเพื่อยืนยันถึงแหล่งที่มาของอัญมณีกรณีที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งน่าจะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันการทำเหมืองอัญมณีในเมียนมายังห่างไกลจากมาตรฐานสากล แรงงานขาดคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งจากเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงกระแสในปัจจุบันที่เรียกร้องให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing) ด้วยการคำนึงถึงจริยธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง RJC (Responsible Jewelry Council) ซึ่งหลายประเทศมีแนวโน้มในการเข้าสู่แนวทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงอาจถือเป็นปัจจัยเร่งที่กระตุ้นให้ประชาคมอัญมณีและเครื่องประดับโลกหันมาให้ความสำคัญต่อกระแสนี้กันมากขึ้น และเร่งแสดงเจตจำนงในการปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและความโปร่งใส อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)