การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้างกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของช่องทางการขายหรือประเภทผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คือ ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น จึงเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และที่สำคัญต้องเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ในรูปแบบของแพลตฟอร์มการขายออนไลน์หรือบริการจัดส่งถึงที่
ประเด็นข้างต้นจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ต่างเร่งปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต้องคิดวิเคราะห์กลยุทธ์อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สินค้าตรงกับความต้องการของตลาด รายใดที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีนวัตกรรมที่ทันสมัยย่อมได้เปรียบ
สมชาย อัศวปิยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า “อุตสาหกรรมอาหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ ความสะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพ และที่ขาดไม่ได้ คือรสชาติยังต้องอร่อยและสดใหม่อยู่เสมอ เทรนด์ในปัจจุบันพบว่า ไม่เพียงแต่ผู้สูงวัยที่เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็น Gen Y หรือ Gen Z ล้วนมองหาผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เพราะต้องการมีร่างกายที่แข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยเช่นเดียวกัน”
NSL Foods ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ มีการสำรวจตลาดและเล็งเห็นการเติบโตของเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพและรักษ์โลก โดยเมื่อต้นปี 2564 NSL Foods ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามสัญญาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง "การพัฒนางานวิจัยและต่อยอดนวัตกรรมอาหารจากหิ้งสู่ห้าง" เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งเสริมสุขภาพและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอาหารประเภท plant-based ที่ปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นวงกว้างขึ้น แม้แต่ในประเทศไทยก็มีสินค้าประเภทนี้ทยอยเปิดตัวมาให้เห็นมากขึ้น ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของสุขภาพและความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตสินค้าช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้จำนวนมาก
อีกหนึ่งเทรนด์พฤติกรรมการบริโภค ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือสินค้าประเภทโปรตีนจากแมลงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคในทวีปยุโรป และกลุ่มเอเชียแปซิฟิกที่เป็น ‘trend setter’ เนื่องจากแมลงเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน กรดอะมิโน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย สามารถนำมาพัฒนาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปัง และขนมหวานต่างๆ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมปังโฮลเกรนผสมโปรตีนจิ้งหรีดแบรนด์แรกในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ Natural Bites ซึ่งจุดขายคือมีโปรตีนและไฟเบอร์สูงกว่าขนมปังทั่วไปและมีโคเลสเตอรอลต่ำ กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพและรักษ์โลก ตามผลสำรวจที่บ่งชี้ว่าฟาร์มจิ้งหรีดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนกว่าฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป กล่าวคือ ในกระบวนการผลิตที่ได้มาซึ่งวัตถุดิบ ฟาร์มจิ้งหรีดสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าถึง 100 เท่า โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าว NSL Foods เริ่มวางจำหน่ายแล้วที่ร้าน Healthiful ซึ่งตั้งอยู่ในท็อปส์ เครือเซ็นทรัลรีเทล ก่อนจะเริ่มขยายตลาดต่างประเทศผลิตขนมอื่นๆ จากแมลงในทวีปยุโรปและเอเชียเร็วๆ นี้
NSL Foods เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี่และอาหารรองท้อง ในแบรนด์ของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น รวมถึงขนมขบเคี้ยว รวมทั้งนำเข้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์และผักแช่แข็ง เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตเมนูอาหารรองท้องอันดับหนึ่งอย่าง “แซนวิชอบร้อน” หลังจากได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จำนวน 75 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของฐานะการเงินในการดำเนินธุรกิจ พบว่าแม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศในปัจจุบันจะเกิดความผันผวนจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สู้ดีนัก หุ้น NSL ยังเป็นบวกเหนือจองอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ล่าสุดจากบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DBS เผยว่า NSL Foods ตั้งเป้ารายได้ในปี 2564 ที่ 3,500 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 19.5% จากปีก่อน โดยการตั้งเป้ารายได้ที่ 3,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้กว่า 19.5% จากปี 2563 ที่มีรายได้ที่ 2,927 ล้านบาท เป็นการเติบโตของรายได้ที่ดี สาเหตุหนึ่งที่เติบโตได้มากเป็นผลจากในปี 2563 บริษัทฯได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 ส่งผลให้รายได้ลดลงจาก 3,373.5 ล้านบาทในปี 2562 ลงมาเหลือที่ระดับดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดในปี 2564 นี้ NSL Foods จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์มาตั้งแต่ปีก่อน รวมไปถึงการออกโปรโมชั่นต่างๆ ร่วมกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
นอกจากนี้ จากการที่ NSL Foods ตั้งเป้ารายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 6,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการตั้งเป้ารายได้ที่เติบโตสูงจากรายได้ปีล่าสุดที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง (CAGR) 18.9% และโดยปกติแล้ว การเพิ่มขึ้นของกำไรจะสูงกว่าระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยคาดว่าจะมีรายได้จากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ให้มีสัดส่วนรายได้ 70% ของรายได้รวมและรายได้นอกจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สัดส่วน 30% ซึ่งตอนนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาสินค้าอาหารประเภทใหม่ตั้งเป้าสำหรับส่งออก โดยที่จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ไม่ต้องแช่แข็งและไม่ใส่สารกันบูด แต่สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน และทำให้รสชาติอาหารไม่เปลี่ยน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของNSL Foodsในระยะกลาง-ยาวอย่างมาก