ดีแทค นั้นได้รับใบอนุญาตคลื่น 700 MHz อย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ซึ่งการได้คลื่นความถี่ต่ำนี้เข้ามาถือเป็นการเสริมความแกร่งชุดคลื่นความถี่ (Spectrum portfolio) ให้กับดีแทคในการให้บริการเพื่อประสบการณ์การใช้งานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
dtacblog ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับเหล่า ‘ดรีมทีม’ ของดีแทคถึงเบื้องหลังการทำงาน โอกาส และความท้าทายในการพัฒนาโครงข่ายบนคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นอีกคลื่นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศ และการเชื่อมต่อสู่ดิจิทัลยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์ที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถ้ามองตัวเลขปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นถึง 24.6% ในไตรมาสที่ 2/2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เกมแพลนในสมรภูมิ 5G
“คลื่น 700 MHz นั้นเป็นคลื่นความถี่ต่ำ มีรัศมีของการกระจายสัญญาณเป็นวงกว้าง เหมาะแก่การขยายสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพสัญญาณในเมือง อาคารสำนักงาน คอนโดและที่พักอาศัยในเขตเมือง จึงทำให้ดีแทคตัดสินใจใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าวในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2 ส่วน ได้แก่ การขยายบริการ 4G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และการพัฒนาบริการ 5G ในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพ” ดร.อุกฤษฎ์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าสายงานการวางแผนและกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ ดีแทค อธิบาย
ทั้งนี้ การวางแผนขยายโครงข่าย 5G จะใช้การวิเคราะห์และดูแนวโน้มจากพฤติกรรมที่ผ่านมา เช่น ความถี่ในการเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือ กลุ่มผู้ใช้งาน พื้นที่การใช้งาน ซึ่งดีแทคคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์มือถือเพื่อรองรับบริการ 5G ของผู้ให้บริการทุกรายรวมทั้งตลาดจะมากกว่า 6 ล้านเครื่องในปีนี้ ขณะที่ตั้งแต่เปิดให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“เราให้ความสำคัญกับความต้องการใช้งานของลูกค้า ซึ่งปัจจัยด้านอุปกรณ์มีความสำคัญอย่างมาก และจากการนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์แล้ว พบว่าอุปกรณ์ของลูกค้าที่สามารถรองรับ 5G ได้นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง มีความต้องการเปลี่ยนเครื่อง หรือเครื่องได้รองรับการใช้งาน จึงกำหนดพื้นที่ในการให้บริการ 5G ในช่วงแรกในเดือนกุมภาพันธ์ คือ กรุงเทพมหานครและอีก 5 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฏร์ธานี และภูเก็ต ก่อนจะตามด้วยอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และอุบลราชธานี” เขาเสริม
ดีทั่วดีถึง
การพัฒนาบริการ 5G ของดีแทคในระยะแรกนี้จะเป็นในรูปแบบ 5G NSA (Non-standalone) กล่าวคือ เป็น 5G ที่อาศัยอยู่บนระบบโครงข่าย 4G เดิม ซึ่งการเลือกติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณ 5G ที่สถานีฐานจุดใดนั้น จะพิจารณาจากความหนาแน่นของอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณ 5G ได้จากข้อมูลลูกค้าเป็นสำคัญ จากนั้นจึงเข้ากระบวนการทางเทคนิคเพื่อทดสอบหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสถียรของสัญญาณที่ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจำลองพื้นที่ครอบคลุมการกระจายสัญญาณ 5G จะต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างดีแทคและผู้ผลิตอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G โดยกระบวนการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความครอบคลุมของพื้นที่และความต่อเนื่องของการใช้งานในพื้นที่เป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ดีแทคยังต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์สื่อสารนั้นจะสามารถทำงานกับโครงข่ายของดีแทคได้อย่างราบรื่น
“นอกจากการวางแผนโครงข่ายแล้ว กลยุทธ์การจัดการจับคลื่นสัญญาณของกลุ่มลูกค้าแต่ละรายหรือ Mobility Strategy นั้นถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด เนื่องจากอุปกรณ์การใช้งานของลูกค้าปัจจุบันมีความหลากหลาย บางเครื่องรับสัญญาณ 5G ได้ บางเครื่องรับได้แต่ 4G จึงต้องมีการทดลองร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์ส่งสัญญาณและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแต่ละรายในห้องแล็บ จากนั้นจึงมีการทดสอบในพื้นที่จริงที่กำหนดไว้ ผ่านวิธีการ Drive Test ทดสอบความต่อเนื่องของการรับสัญญาณ และนำมาปรับหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมที่สุด เมื่อทดสอบจนมั่นใจแล้ว จึงค่อยขยายสัญญาณและให้บริการในพื้นที่จริงตามที่วางแผนถัดไป” สมัคร สิมพา ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาโครงข่ายของดีแทค อธิบาย
นอกจากนี้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ดีแทคนั้นได้นำเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Sharing (DSS) มาใช้ร่วมกับคลื่น 700 MHz ทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานคลื่นเดียวทั้ง 5G และ 4G ได้โดยไม่ต้องแบ่งแบนด์วิดท์ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่สูงสุด ดังนั้นในบางพื้นที่ โทรศัพท์มือถือจะจับสัญญาณที่ดีที่สุดให้เอง ซึ่งอาจจะเป็น 4G หรือ 5G ก็ได้
คลองถม: พื้นที่ 5G แห่งแรก
“พื้นที่แห่งแรกที่ดีแทคทดลองทดสอบให้บริการ 5G ในเดือนมกราคม ปี 2564 คือบริเวณคลองถม เนื่องจากมีความยากในเชิงเทคนิคหลายประการ มีการใช้งานหนาแน่น ขณะที่ลักษณะทางกายภาพนั้น มีความเป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยตึกสูง รถติด ทำให้คลองถมเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทดสอบ Mobility Strategy บนบริการ 5G ของดีแทคเป็นแห่งแรก” สมัครอธิบาย
นับตั้งแต่ขั้นทดลองทดสอบจนถึงให้บริการในปัจจุบัน ทีมเทคนิคต่างเผชิญกับความท้าทายนานัปการ ทั้งการปรับจูนค่าพารามิเตอร์ ที่ผลจากการทดสอบอาจไม่สามารถใช้ได้จริงในพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมถึงการปรับจูนระหว่างโครงข่าย 5G และอุปกรณ์มือถือที่ต้องสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยเฉพาะของ 5G บนคลื่น 700 MHz ซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติโดยทั่วไปของวงการโทรคมนาคมที่ให้บริการ 5G บนคลื่นความถี่ย่านกลาง (Mid-band) ทำให้ปัญหาที่เผชิญอาจแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นอยู่บ้าง
“การพัฒนา 5G เป็นเกมระยะยาว การนำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้ในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งอาจมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เช่นเดียวกับผู้ให้บริการอีกหลายราย ซึ่งดีแทคมั่นใจว่าเราจะมุ่งมั่นลงทุนและพัฒนาบริการ 5G อย่างต่อเนื่อง” สมัครกล่าว
โครงข่ายที่มุ่งเน้นความยั่งยืน
ปัจจุบันเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2/2564 ดีแทคมีการเดินหน้าติดตั้งเสาสัญญาณ โดยมีสถานีฐานบนเครือข่าย 700 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 9,100 สถานีฐานบนเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ที่รวมถึงการขยายสัญญาณบริเวณจุดอับภายในอาคารและพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ ดีแทคยังขยายสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-2300 MHz ที่ได้รับการติดตั้งแล้วจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 20,900 สถานีฐาน ซึ่งรองรับการขยายความจุเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง (ให้บริการบนคลื่น NT หรือทีโอที เดิม) ทั้งหมดนี้ เป็นการขยายโครงข่ายที่ไม่ได้เน้นแค่ในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพด้วย
“การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นหลักการสำคัญที่ดีแทคยึดมั่นในการดำเนินงานในทุกฝ่ายและทุกระดับ รวมถึงในการขยายโครงข่ายของเราด้วย โดยครอบคลุมทั้งในแง่หลักธรรมาภิบาลและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าสัญญาณโทรศัพท์ที่ท่านใช้อยู่นั้นเป็นสัญญาณสะอาด มีมาตรฐานความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับ และเราพยายามลดการเกิดอุบัติเหตุระหว่างงานให้ได้มากที่สุด” ธงชัย ขวัญพุฒ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการโครงข่าย ดีแทค กล่าว
แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขยายโครงข่ายของดีแทคจะอยู่ในภาวะติดสปีดคือเร่งขยายอย่างเต็มที่ แต่ด้วยการทำงานแบบ Tight-Loose-Tight ทำให้ดีแทคสามารถพิชิตเป้าหมายได้ด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน
Tight ที่หนึ่งคือ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งดีแทคได้กำหนดให้มีการขยายโครงข่ายเพื่อสอดรับกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงสนับสนุนงานภาครัฐ เช่น การขยายสัญญาณเพื่อรองรับพื้นที่บริเวณโรงพยาบาลสนาม
Loose คือการทำงานอย่างยืดหยุ่น ซึ่งการขยายสัญญาณได้อย่างรวดเร็วที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลองใช้ซับคอนแทรกเตอร์ใหม่ในการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ เนื่องจากมีความชำนาญในพื้นที่มากกว่า นอกจากนี้ ยังนำระบบ automation เข้ามาใช้ในทุกกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นก่อน ระหว่างและหลังการติดตั้ง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพการขยายโครงข่ายได้เป็นอย่างดี
Tight ที่สุดท้ายคือ ความรับผิดชอบและการติดตามงาน ทุกๆ วันจะมีการประชุมร่วมกับทีมงานและพาร์ทเนอร์ เพื่อเรียนรู้ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เช่น การขาดซัพพลายด้านอุปกรณ์ และการขาดแคลนแรงงานจากการทำงานในพื้นที่เสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ด้วยหลักคิดแบบ Tight-Loose-Tight ทำให้การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะของดีแทคหรือพาร์ทเนอร์เองก็กลับบ้านอย่างปลอดภัยและมีความสุข สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นทางคู่ค้า ดีแทค หรือผู้บริโภคเอง
5G เปลี่ยนผ่าน ‘เร็วขึ้น’
การเปลี่ยนผ่านการสื่อสารแต่ละยุคนั้นใช้เวลาน้อยลงเรื่อยๆ อย่างการเปลี่ยนผ่านจาก 3G สู่ 4G นั้นใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นราว 5 ปี นับจากโทรศัพท์รุ่นแรกที่รองรับ 4G ได้เปิดตัว จนถึงรุ่นที่ราคาถูกที่สุดที่รองรับ 4G ได้ในระดับราคาแมสที่ต่ำกว่า 4,000 บาท ซึ่งกรณีของ 5G นั้น พีระพลเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านในยุค 5G NSA จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งถึง 4 ปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งเปลี่ยนผ่านนี้เกิดจากผู้ผลิตมือถือระดับแมส อาทิ Samsung, Oppo, ViVo, Xiaomi และ Realme ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ๆ ซึ่งรองรับการใช้งานบนบริการ 5G ในราคาที่ต่ำลงมาเรื่อยๆ แล้ว โดยคาดว่าสนนราคาเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3,000-5,000 บาทต่อเครื่องจะมาในอนาคตอันไม่ไกลนี้ ล่าสุดสมาร์ทโฟน 5G ที่ถูกที่สุดก็มีราคาเพียง 6,990 บาทเท่านั้น
“การเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์นั้นวัดได้จากการที่โทรศัพท์รุ่นที่มีราคาถูกที่สุดสามารถรองรับเทคโนโลยี 5G ได้ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาจากแนวทางของระบบนิเวศของทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ผู้ผลิตมือถือ หรือกระทั่งผู้ผลิตชิปเซ็ตเอง” พีระพล กล่าวเพิ่มเติม
“นอกจากการให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz ตามที่กล่าวมาแล้ว ดีแทค บิสซิเนส ยังได้พัฒนา use case ต่างๆ เพื่อกลุ่มอุตสาหกรรม ล่าสุดได้เปิดตัว 5G Private Network คลื่น 26 GHz โดยผนึกกำลังกับบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AWS จัดสาธิต PoC (Proof-of-Concept) สำหรับ 5G Private Network และ Edge Computing และยังร่วมมือกับ เอบีบี เป็นพันธมิตรเชื่อมต่อเทคโนโลยี 5G กับ Robotic ที่จะขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งร่วมกับอาซีฟา (ASEFA) ในการพัฒนา5G โซลูชันบริหารพลังงานระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Energy Management) อีกด้วย โดย 5G ทั้งคลื่น 700 MHz และ 26 GHz ที่กล่าวมานี้จะช่วยผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น” สมัคร กล่าวในที่สุด