ความในใจ #ต่อเพนกวิน ดิ้นมาครบ ทุกมุข -จุกๆ กับหนนี้
07 Aug 2021

 

"ที่ผ่านมา ไม่เคยเจอเกิดคลัสเตอร์จากร้านอาหารเลย แต่ถามหน่อยว่า ทุกครั้งที่เกิดขึ้น ทำไมร้านอาหารจึงต้องกลายเป็นแพะ ที่ต้องมารับผิดชอบทุกอย่าง โดยที่ไม่มีการเยียวยามาตลอดหนึ่งปีเลย"

จริงๆ ต้องบอกว่า เพนกวินอีทชาบู ถือเป็นร้านชาบูที่ใช้กระบวนยุทธ์เก่งไม่หนีใคร แม้จะส่งมุขโปรโมชั่นหลากหลายให้ฮือฮาบ้าง หรือบางครั้งคิดไม่รอบ คิดไม่ถึงก็กลายเป็นส่งโปรโมชั่นมาให้ ‘ทัวร์ลง’ แต่สำหรับที่นี่ก็เก็บเกี่ยว Lesson Learned มาทำงานต่อตัวอย่างโปรโมชั่นของค่ายนี้ เช่น โปรแถมหม้อชาบู โปรแถมโบท็อกซ์ (เขียนไม่ผิด)โปรหาคู่ใน Tinder ฯลฯ ต้องถือว่าที่นี่ทำการตลาดครีเอทีฟสุดๆ เรียกว่า ดิ้นรนมาทุกมุข แต่ ‘จุกๆ’ ก็หนนี้ละ กับความท้าทายที่เรียกว่า ‘โควิด-19’ นับแต่ปีก่อน แม้ ‘โควิด-19 จะไม่ใช่วิกฤติแรก เพราะเคยมีชีวิตล้มลุกคลุกคลานมาก่อน แต่ ‘จุกๆ’ อีกรอบก็น่าจะปีนี้กับ ‘ประกาศลักหลับ’

 

 

ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ ‘ต่อ’ เจ้าของร้านเพนกวินอีทชาบู ระบายความในใจบนเฟซบุ๊กของตนเอง @Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ ในวิดีโอคลิปที่ชื่อ ‘ขอระบายแทนร้านอาหารหน่อยเถอะ’  ในวันที่ 27 มิ.ย. พร้อมแคปชั่นเกริ่นนำความในใจที่ว่า

“วันนี้ถือเป็นวันที่ประชาชน และร้านอาหารเดือดร้อนที่สุดกับการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศ แต่ก็ทำได้แค่นั้น เพราะพวกเราเป็นเพียงเจ้าของธุรกิจที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่มียอดขายเป็นพันล้าน หมื่นล้าน และพวกเราก็ไม่มีเสียงดังพอที่จะทำให้ผู้บริหารประเทศหันมาฟังได้ ในฐานะที่เพจนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารเลยอยากขอพูดแทนเจ้าของร้านอาหารทั่วประเทศ ในสิ่งที่เราอดทนมาตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เผื่อที่จะทำให้ท่านๆ ที่อยู่ข้างบนหันมาสนใจเราบ้าง เพราะต่อให้ธุรกิจของพวกเราจะเล็ก แต่เราก็คือคนที่เสียภาษี และเงินประกันสังคมให้กับพวกท่าน โดยที่ไม่เคยได้อะไรกลับมาเลย ช่วยกันแชร์ให้เสียงพวกเรามันดังมากยิ่งขึ้นกัน เผื่อคนที่อยู่บนนั้นเขาจะหันมามอง”

 

 

ธนพงศ์ ระบายความในใจ ในฐานะคนทำธุรกิจร้านอาหารในคลิปอย่างตรงประเด็นว่า

“ตลอดการปิดร้านสามครั้งที่ผ่านมา ร้านอาหารหลายๆ ร้านไม่เคยมีปากมีเสียง เพราะคนเหล่านี้เข้าใจ แต่ ณ วันนี้จะเห็นกระแสต่อต้าน และตัดพ้อ เพราะเรารู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นต้นเหตุ แต่ทำไมเราต้องเป็นคนที่รับผิดชอบอีก และสิ่งที่เรารู้สึกไม่โอเค คือ การแสดงออกของผู้นำ มีคนเคยบอกว่า การเป็นผู้นำให้ดูจากการกระทำ ไม่ใช่คำพูดแล้วการกระทำที่ท่านทำกับพวกเรามาตลอดหนึ่งปี มันฟ้องอะไรได้หลายๆ อย่าง ก่อนหน้านี้มีผู้ติดเชื้อ 3,000 มาตลอด เรารู้ว่ามันยากและเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง แต่ท่านก็ออกมาประกาศว่า 120 วันจะเปิดประเทศให้ได้ อีกไม่กี่วันท่านก็บอกว่าเป็นแค่การคาดคะเนเท่านั้น อาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ พอติดเชื้อมาเยอะๆ ภาครัฐไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเลย ตอนหลังติดกันมากทั้งในแคมป์และโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาก็บอกว่าจะปิดแคมป์คนงาน แต่ยังไม่ปิดร้านอาหารเราก็โอเคสั่งสต็อกวัตถุดิบเข้ามา แต่มาประกาศตอนตีหนึ่ง ทั้งที่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า คุณยังชูสองนิ้วและบอก ‘นะจ๊ะๆ’ อยู่เลย ตกลงคุณเห็นชีวิตเอสเอ็มอีเป็นแค่เรื่องตลกหรือเรื่องล้อเล่นหรือ

 

การแสดงออกของผู้นำที่บ่งบอกอะไรได้หลายๆ อย่างเลยทำให้วันนี้ เอสเอ็มอี และธุรกิจร้านอาหารเหลืออดเหลือทน แต่เนื่องจากเอสเอ็มอีอย่างพวกเราไม่ได้เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ๆ จึงไม่ได้เป็นกระบอกเสียง แต่ฟางเส้นสุดท้ายจริงๆ คือ การที่คุณบอกว่า คุณตัดสินใจปิดแคมป์คนงาน แต่คุณชดเชยให้แรงงาน 50% โดยที่ภาคธุรกิจยังไม่ได้ร้องขอ ขณะที่ภาคธุรกิจบริการ, ร้านอาหาร, โรงแรมร้องขอความช่วยเหลือเช่นนี้ มาปีกว่าๆ แล้ว แต่คุณบอกมันไม่เข้าเกณฑ์ เพราะคุณบอกคุณไม่ได้สั่งปิด แต่เรายังสามารถขายแบบเดลิเวอรี่ได้

ผมถามหน่อยว่า ทุกร้านไปกับเดลิเวอรี่ได้จริง หรือเปล่า ถามจริงๆ ว่า คุณเข้าใจคนทำธุรกิจจริงๆ หรือเปล่า หรือนั่งอยู่บนหอคอยแล้วสั่งการให้เอสเอ็มอีเอาตัวรอดกันไป ตัวใครตัวมัน เราก็พูดมาตลอดเขาอาจจะได้ยินแต่เขาก็ไม่ฟัง แต่อย่างน้อยก็อยากได้ยินจากปากเขาจริงๆ ว่าเขาไม่แคร์เอสเอ็มอีจริงๆ ใช่หรือเปล่า หรือแคร์แค่นายทุนใหญ่ หรือคนที่มีเงินเท่านั้น

 

 

มาตรการสั่งปิดที่ผ่านมา 2-3 ครั้ง ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ -  เราไม่เคยเห็นด้วยเลย แต่พวกเราก็ปฏิบัติตามด้วยดีตลอดมา แม้กับคำสั่งที่ไม่ Make Sense อย่างมากเราก็แค่บ่นกัน แต่เราก็ทำตามกัน

ผมขอถามหน่อยว่า เคยเกิดคลัสเตอร์จากร้านอาหารหรือไม่ - ไม่เคยเกิดเลย ทำไม่นะหรือ เพราะในมุมของเจ้าของธุรกิจ ถ้าเมื่อไรที่เราต้องประกาศออกไปว่า เจ้าของร้านหรือพนักงานของเราติดเชื้อ นั่นคือควาฉิบหายของธุรกิจ พวกเราจึงต้องพยายามดูแลความเป็นความตายของตัวเรา และพนักงานให้ดี นั่นจึงทำให้ไม่เคยเจอเกิด

คลัสเตอร์จากร้านอาหาร แต่คลัสเตอร์รอบแรก ที่เกิดมาจากสนามมวยรอบที่สองเกิดจากบ่อน รอบนี้เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และแคมป์ก่อสร้าง แต่ถามหน่อยว่า ทุกครั้งที่เกิดขึ้นร้านอาหาร จึงต้องกลายเป็นแพะที่ต้องมารับผิดชอบทุกอย่าง โดยที่ไม่มีการเยียวยามาตลอดหนึ่งปีเลย ขณะที่แคมป์ก่อสร้างเป็นคลัสเตอร์ต้นตอส่วนหนึ่งของรอบนี้ แล้วทำไมจึงได้รับการเยียวยา

 

 

ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นบริษัท ซีอีโอ ก็คือทีมผู้บริหารประเทศ ลูกค้าขององค์กรก็คือ ประชาชน ธุรกิจ และเอสเอ็มอีทุกคนนี่แหละ ไม่มีทางที่องค์กรจะอยู่ได้ ถ้าลูกค้าไม่มีเงินมาอุดหนุนบริษัท ถ้าลูกค้าไม่รักบริษัท และบริษัทก็จะอยู่ไม่ได้ แต่คุณมาลองดูบริษัทที่ชื่อ ‘ประเทศไทย’ นี่สิ

บริษัทนี้มีการเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจจากผู้บริหารตลอดเวลา โดยไม่มีการแจ้งลูกค้าล่วงหน้า ไม่เคยมีการขอโทษ ไม่มีการเยียวยาลูกค้า

บริษัทนี้หัวหน้าแต่ละฝ่าย แต่ละแผนกไม่คุยกัน แถมเกลียดกันอีก

บริษัทนี้แต่ละฝ่าย แต่ละแผนกไม่เคยทำงานร่วมกันเลย เพราะมาจากคนละพวก

บริษัทนี้แต่ละฝ่ายแต่ละแผนก โทษกันไปโทษกันมาว่า เป็นความผิดของอีกฝ่าย โดยที่ตนเองทำดีที่สุดแล้ว

บริษัทนี้บังคับให้ลูกค้าซื้อในสิ่งที่บริษัทอยากขายแต่ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ

บริษัทนี้ไม่เคยฟัง Feedback หรือความคิดเห็นจากลูกค้า ถ้าลูกค้าแสดงความคิดเห็นมากเกินไปอาจจะถูกสั่งปิดหรือถูกสอบได้

บริษัทนี้บริหารด้วยความประมาทปล่อยให้ความเสียหายไปถึงลูกค้าแล้วค่อยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ ไป

บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ แต่มีปัญหากับสาขาย่อยๆ สั่งอย่างหนึ่ง บริษัทแม่ยกเลิกคำสั่ง สั่งอีกอย่างหนึ่ง แล้วลูกค้าผิดอะไร ที่จะต้องมารับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ บริษัทนี้โทษแต่คนอื่น ไม่เคยโทษตัวเองเลย

 

ผมถามหน่อย เท่าที่พูดมาทั้งหมดนี้บริษัทจะไปรอดจริงๆ หรือ บริษัทที่ไม่มีใครรัก บริษัทที่ไม่แคร์ลูกค้า บริษัทที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของลูกค้า ถามว่า ลูกค้า หรือประชาชนคาดหวังอะไรกับรัฐบาลนี้ หรือไม่ พูดเลย ไม่คาดหวัง ไม่มีความหวัง แต่เราไม่มี ‘ทางเลือก’ เพราะถ้ามันเป็น ‘บริษัท จริงๆ เรายังมีสิทธิ์เปลี่ยนใจซื้อของบริษัทอื่นๆ ได้ ดังนั้น ณ วันนี้ เราเลือกที่จะเปลี่ยนตนเอง ถ้าจะพูดอะไรกับภาครัฐวันนี้ ก็ต้องบอกว่า ‘ขอบคุณ’

ขอบคุณที่ทำให้เราเก่งขึ้นจากการที่ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเราเลยขอบคุณที่ทำให้เราต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพราะคุณไม่เคย เป็นที่พึ่งให้เราได้เลย ขอบคุณที่ทำให้เรารักกันมากขึ้น เพราะพวกเราไม่เคยได้รับความรักจากคุณเลย”

 

ถึงบรรทัดนี้ ก็บอกได้ว่า ‘สวัสดี ประเทศไทย’

 


บทความจากนิตยสาร มาร์เก็ตพลัส ฉบับ เดือนกรกฎาคม 2564 ISSUE 136 


 

[อ่าน 4,472]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SCB EIC ชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะผ่านจุดต่ำสุดช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
Seamless Living, One Tap Away: How Meituan Powers the Lazy Lifestyle
สร้าง Personal Branding อย่างไรให้ปัง
Technology: The Ultimate Life-Hack or The Ultimate Laziness Trap ?
Freshket: The Lazy Entrepreneur's Best Friend for Restaurant Success!
เจาะลึกบทบาทผู้ผลิตไฟฟ้า เมื่อโลกเกิดภัยพิบัติ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved