ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล เคล็ดวิชา Do & Don't หนี 'เจ็บ - จน'
19 Aug 2021

สิ่งที่นักการตลาดเรียนรู้หรือตำราการตลาดที่มีกันล้วนเกิดขึ้นก่อนยุคโควิด-19 ทั้งสิ้น  

ความคิดที่อยากจะทำแบรนด์จากการสัมผัสทั้งห้านั่น คือ 'รูป - รส - กลิ่น - เสียง - สัมผัส'

ณ วันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว อะไรที่เคยใช่ หรืออาจจะถูกในตำรา วันนี้อาจจะผิดก็ได้  


 

โควิด-19 ทำให้ผู้คน 'กลัวเจ็บ (ป่วย) กลัวจน' จนบางธุรกิจเสียการทรงตัว ทว่า จากการให้เคล็ดวิชา 'อะไรต้องทำ อะไรอย่าทำ'

โดย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย (ด้านสื่อสารองค์กร) เพื่อให้ผู้ประกอบการและแบรนด์ตีกรรเชียงหนีเจ็บหนีจนในห้วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ให้ได้ จากการจัดเสวนาออนไลน์ของ GIT Talk เรื่อง 'สร้างแบรนด์เสริมแกร่งพิชิตยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับ' ถือเป็นเคล็ดไม่ลับที่นักการตลาดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ ที่สำคัญ ชี้ช่องบอกทางเก็บเครื่องมือให้ใช้เป็นอาวุธอีกด้วย

 

Forget & Move on

"การทำการตลาดเมื่อก่อนที่เราเคยพูดกันว่า จะต้องทำตามขั้นตอน 1,2,3,4 ....แต่ ณ วันนี้คงต้อง Forget & Move on นั่นคือ เราต้องลืมสิ่งที่เรา 'เคยจดจำ เคยรู้' ไปอย่างมหาศาล อย่างสมัยก่อนคนขายเครื่องประดับ เราต้องให้ลูกค้ามาลองใส่ ลองใช้ที่หน้าร้าน แต่ ณ วันนี้ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การลองสินค้าที่หน้าร้านอาจไม่เป็นที่พึงปรารถนาของลูกค้าอีกต่อไปแล้วก็ได้ เนื่องจากสินค้าที่หยิบออกมาจากร้านค้านั้นไม่ทราบว่าได้ทดลองใช้หรือใส่มาโดยคนบ้างก็ไม่รู้ แล้วใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้หรือเปล่า ในส่วนของร้านค้า ถ้าใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้เครื่องประดับนั้นสึกหรอไปได้

ดังนั้น เมื่อผู้คนไม่อยากมาซื้อของที่หน้าร้าน เราก็ต้องมาคิดใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรกันดี ในเมื่อช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด และทำให้ผู้คนเกิดความกลัวสองประเภท นั่นคือ กลัวเจ็บ (ป่วย) - กลัวจน 

กลัวเจ็บ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้จากการที่ผู้คนใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างทางสังคม การฉีดวัคซีน และอื่นๆ กลัวจน  เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับว่า ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างฝ่ายต่างก็กระเป๋าแฟบลง"

 

ปัญหาพาช็อก

ผศ.ดร.เอกก์กล่าวต่อไปถึงภาวะช็อกกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ว่า

"จากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและมีการปิดเมืองสักพักใหญ่ อีกทั้งมีการห้ามธุรกิจบางประเภทเปิดให้บริการ แต่ต่อมา 14 มิ.ย. 64 กทม.ก็มีประกาศคลายล็อกกับ 5 ธุรกิจสำคัญทั้งพิพิธภัณฑ์, สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาตร์, ร้านสปา/นวดเพื่อสุขภาพ,  ร้านทำเล็บและร้านสัก, คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม แต่ตอนบ่าย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ประกาศชะลอคำสั่งผ่อนปรนมาตรการ ร้านค้าที่เตรียมจะเปิดกลับต้องปิดร้านกันแทบไม่ทัน ...

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ คือ 'ช็อก' เพราะเดี๋ยวสั่งเปิด - เดี๋ยวสั่งปิด และเป็นความช็อกที่เกิดขึ้นทั่วโลกกับหลายๆ ธุรกิจ และได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ หรือล้มละลาย อย่างเช่น  Dean & Deluca  ที่มีการขยายตัวทั่วโลกเป็นพันสาขา, ห้างสรรพสินค้า JC Penny, BrooksBrothers ร้านขายเสื้อผ้า คุณภาพดี ราคาไม่แพงมีอายุกว่า100 ปี, ธุรกิจรถเช่า Hertz ที่เป็นเบอร์1 ของโลกและของประเทศไทย, สายการบินนกสกู๊ต สายการบินต้นทุนต่ำ, คอมมูตี้มอลล์ปาลิโอ, ร้านอาหารคุ้มขันโตกที่เชียงใหม่ ฯลฯ ต่างก็ได้รับผลกระทบและต้องปิดตัวลง

ธุรกิจต่างๆ ทั้งระดับโลกและระดับประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบกัน อย่างไรก็ตาม ในการทำธุรกิจ เราอาจคิดว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับ 'ความท้าทาย' ที่เราเห็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ความจริงแล้ว 'ความท้าทาย' ที่เรายังมองไม่เห็นยังมีอีก นั่นคือภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนที่จมน้ำอยู่อีกขนาดมหึมาใหญ่กว่าที่โผล่พ้นน้ำมาอีก 4 เท่า ทำนองเดียวกัน วิกฤติโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญครั้งนี้หนักหนากว่าคราววิกฤติต้มยำกุ้งถึง 4 เท่า"

 

 

ความท้าทายที่เป็นปัญหาจริงๆ ที่ ผศ.ดร.เอกก์ ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นความท้าทายจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ดังนี้

  • -1.1%    ยอดใช้จ่ายบนออนไลน์ ทั้งที่ไม่เคยติดลบมาเป็นสิบปี
  • -10.9%  การลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย
  • -8%       การส่งออก
  • -83.2% การท่องเที่ยว จากเดิมที่มีการประเมินจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า ปลายปี 63 การท่องเที่ยวจะลดลง 60%แล้วหลังจากต.ค.63 การท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ถึงปัจจุบัน ยอดการท่องเที่ยวกลับดำดิ่งลงไปอีก
  • +13%  ส่วนที่เป็นบวก ซึ่งเป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง กลับเป็น 'อัตราการว่างงาน' ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่าง ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยขึ้นแตะระดับนี้มาก่อน ซึ่ง มาริสา สุโกศล นายกสมาคมโรงแรมไทย ได้ระบุว่า ในปีนี้จะมีคนในธุรกิจโรงแรมตกงานอีก 8 แสนคน ทั้งนี้ ไม่นับคนตกงานจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีอีกเป็นจำนวนมหาศาล

 

ผศ.ดร.เอกก์กล่าวต่อไปว่า "ปัญหาที่เราเจอกัน คือ สิ่งที่นักการตลาดเรียนรู้ หรือตำราการตลาดที่มีกันนั้นเกิดขึ้นก่อนยุคโควิด-19 ทั้งสิ้น ความคิดที่อยากจะทำแบรนด์อย่างที่บอกว่า การทำแบรนด์ที่ดีจะต้องทำจากการสัมผัสทั้งห้า นั่นคือ 'รูป - รส - กลิ่น - เสียง - สัมผัส' แต่ ณ วันนี้การทำแบรนด์ด้วยสัมผัสทั้งห้านี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะถ้าใช้สัมผัสเหล่านี้ก็จะยิ่งติดโควิด-19

นี่จึงทำให้การจัดพื้นที่และดิสเพลย์ เพื่อให้คนมีโอกาสมาชมสินค้า มาลองสินค้าจึงเปลี่ยนไป ที่สำคัญ การขายสินค้าแบบที่มีพนักงานขายมาดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้เวลาเป็นชั่วโมง อย่างที่เรียกว่า High Touch ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เพราะถ้ามาพูดคุยกับลูกค้ามากถึง 3-4  นาที ลูกค้าก็จะผงะหนีแล้ว แต่ปัจจุบันลูกค้าอยากรีบซื้อรีบไป ดังนั้น อะไรที่เคยใช่ หรืออาจจะถูกในตำรา วันนี้อาจจะผิดก็ได้"

 

3P ต้องห้ามช่วงนี้

สำหรับกลยุทธ์อะไรควรทำ ไม่ควรทำนั้น ผศ.ดร.เอกก์เริ่มจาก 'อะไรที่อย่าทำก่อน' ด้วยสูตร '3P ต้องห้าม' ได้แก่ Pricing - Postponed Marketing - Pseudo Marketing เพราะถ้าทำแล้วมันจะกลายเป็น 'กับดัก' ที่อาจจะทำแล้วดูสวยงาม เหมือนเราจะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน แต่เอาเข้าจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถูกจับไว้เลย ออกมาไม่ได้

Pricing  

สมัยก่อนพูดกันไว้เลยว่า ถ้านักการตลาดเก่งจริงอย่าเล่นกับ 'ราคา' แต่ต้องเล่นกับ 'คุณค่า'

เพราะลูกค้าไม่ได้เน้นที่ 'ราคา' แต่เน้นที่ 'คุณค่า' 

แต่วันนี้ ลูกค้าเน้น 'คุณค่า' และ 'คุ้มค่า'

 

"ณ วันนี้เป็นห้วงเวลาที่ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ให้เล่นราคาได้ แต่ต้องอย่าหยิบเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ถ้าหยิบมาแต่แรกมันจะเกิดการตัดราคาแข่งกันไปมา แล้วที่สุดก็จะตายกันหมด การเล่นกลยุทธ์ราคาเล่นได้ แต่ต้องเก็บไว้ 'หลังร้าน' ก่อน เพราะบางทีคู่แข่งก็เล่นจริงๆ ถ้าเราไม่เล่นเลยเราก็จะยิ่งแย่ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมความงามที่มีการตัดราคากัน อย่างการฉีดโบท็อกซ์ที่มีการลดราคาจาก 3,990 บาทเป็น 2,990 บาท หรือธุรกิจจิวเวลรี่ที่มีการประกาศลดราคา 50% ต่อมาก็จะมีคนประกาศลด 60% หรืออาจจะ 70%, 80%, 90% ซึ่งหากเล่นกลยุทธ์ราคามากๆ สุดท้ายก็คงไม่พ้นต้องแจกฟรีกัน"

 

Postponed Marketing

"เนื่องจากต้องการเอาเงินจากลูกค้ามาหมุนใช้ก่อน ทำให้ยอมจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจ แล้วคิดว่าถึงเวลาจริงๆ ค่อยมาว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดแคมเปญ ซื้อ 1 หมื่นบาท แถมวงเงินเพิ่มอีก 5,000 บาทเก็บไว้ใช้ได้ 180 วัน แต่เมื่อเวลาจริง คุณจะตกใจ เพราะลูกค้าใช้ประโยชน์จากแคมเปญที่ลงทุนไว้แบบ 'ใช้เอาคุ้ม' เพราะฉะนั้น การที่เรายอมขาดทุนเพื่อเอาเงินมาก่อนจึงอันตรายมาก สิ่งที่เราต้องระลึกไว้เสมอ คือ เราไม่ได้ทำธุรกิจแค่ในปีนี้ แต่เราต้องทำธุรกิจที่ส่งต่อให้ลูกหลานของเราได้"

 

Pseudo Marketing

"Pseudo ที่มีความหมาย 'ปลอม' นั้น ต้องขอเตือนใจผู้ประกอบการว่า อย่าหลอกลูกค้า เช่น เพชรน้ำไม่งาม แต่บอกว่า 'งาม' มุกไม่แท้ แต่บอกว่า 'แท้' เนื่องจากยุคนี้ผู้บริโภคเองก็มีวิธีการเรียนรู้ หรือหาองค์ความรู้ให้กับตนเองได้อย่างมากมายบนโลกออนไลน์  เช่น มุกแท้ดูอย่างไร ฉะนั้น เมื่อลูกค้าเรียนรู้มาแล้วก็จะรู้ได้ว่า ตนเองถูกหลอกหรือไม่ ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจ ไม่หลอกลูกค้า เพราะถ้าใครหลอกลูกค้าในยุคนี้ก็จะมีการสื่อสารกันในโซเชียลมีเดียและแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว" 

 

การตลาดที่ต้องทำ

"ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ เราต้อง Forget & Move on ด้วยการตลาดที่ต้องทำเพื่อสร้างแบรนด์และเพื่อความอยู่รอดในช่วงนี้ คือ การตลาดตัดต้นทุน แต่ไม่ใช่ การตลาดไร้ต้นทุน จากเดิมที่นักการตลาดจะเน้นยิงโฆษณามากๆ อัดงบโฆษณาเยอะๆ แต่ในยุคนี้จะไม่ใช่แบบนี้อีกต่อไป เพราะผู้ประกอบการเองก็ 'กระเป๋าแฟบ' ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องมุ่งหาโฆษณาอะไรก็ตามที่ได้ผล ด้วยต้นทุนต่ำ แต่ไม่ได้หมายความไม่ใช้ต้นทุนเลย แต่เป็นต้นทุนที่จะต้องคิดเยอะ ต้องใช้เวลา แล้วก็อาจต้องใช้เงินลงทุนใส่ไปบ้าง ไม่ใช่ไม่ใส่เลย เพราะหากไม่ใส่เงินลงทุนเลยก็บอกได้เลยว่า จะประสบความสำเร็จได้ยาก"

 

ทั้งนี้ 'การตลาดตัดต้นทุน' ว่า ประกอบด้วย 'การตลาด 4 จ.' นั่นคือ 'การตลาดจับกระแส - การตลาดจิกลูกค้า - การตลาดเจาะกลุ่ม - การตลาดจุนเจือสังคม'

 

 

การตลาดจับกระแส

แต่เดิมมีสูตรการทำตลาดที่ว่า อย่าจับตาม 'กระแส' เพราะกระแสมาแล้วก็ไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องทำการตลาดแบบ 'จับกระแส' เพราะเราไม่รู้ว่าระยะยาวอีก 5 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้ตัวเรารอดก่อน สัปดาห์หน้า เดือนหน้าจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างของกระแสที่เกิดก่อนหน้านี้ เช่น พิมรี่พาย, แม่ศิตางค์ ส้มหยุด, ซูเปอร์วาเลนไทน์ เจน - นุ่น - โบว์, แม่หญิงลี พระมหาเทวีเจ้าแห่งเมืองทิพย์, หยาดพิรุณ ปู่หลุ่น ยูทูบเบอร์สายฮากับวลีดัง 'ละแมะ อะหรือๆๆๆ' ฯลฯ

การจับกระแสต้องหยิบมาใช้ในช่วงเวลาที่คนเหล่านี้ดัง ต้องเร็ว เพราะเมื่อคนเห็นว่าอยู่ในกระแสก็จะมีการแชร์ต่อๆ กันไป แต่หากช้าหลังจากนี้สักหนึ่งสัปดาห์ก็โบราณแล้ว

 

"แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรคือ 'กระแส'

ทั้งนี้ มีเครื่องมือสำหรับการจับกระแสเพื่อช่วยนักการตลาดนั่นคือ BuzzSumo.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ตรวจจับว่าคอนเทนต์ใดมีกระแสดี เป็นการจับกระแสระดับโลกแต่ถ้าต้องการจับกระแสในประเทศไทยก็สามารถเข้าไปได้ที่ GoogleTrends (https://trends.google.com) เว็บไซต์ของ Google ที่ให้บริการตรวจสอบความนิยมของคำค้นหา หรือเว็บไซต์ในช่วงเวลา 1 วัน หรือช่วงเวลาที่กำหนดได้ โดยสามารถแบ่งข้อมูลแบ่งย่อยออกตามพื้นที่ของผู้ค้นหาได้ เช่น ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ที่สำคัญ เป็นบริการฟรี นอกจากนี้ก็มีบริการของWiseSight Trend (https://trend.wisesight.com) เพื่อใช้เช็คกระแสฮิตทุกวันบนโลกโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

 

การตลาดจิกลูกค้า

"แต่ก่อนจะมีข้อห้ามว่า อย่าจิกลูกค้า เดี๋ยวลูกค้ารำคาญ แต่ ณ วันนี้จิกได้จิกเลย แต่อย่าใช้โทรศัพท์จิก เพราะลูกค้าจะรำคาญ การจิกลูกค้ายุคนี้ต้องจิกแบบดิจิทัล เช่น ถ้าลูกค้าพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของเรา ควรจะมีโฆษณาของเราขึ้นที่เฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ซึ่งการจิกลูกค้าแบบนี้มีเครื่องมือที่สามารถใช้ได้คือ Facebook Pixel"

ทั้งนี้ stepstraining.co กล่าวถึง Facebook Pixel ว่า เป็นเครื่องมือที่อยู่ใน Facebook มีลักษณะหน้าตาในรูปแบบของ Code เมื่อติดตั้งไว้ในเว็บไซต์แล้ว Pixel จะทำหน้าที่ช่วยหาคนที่เคยเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ คอยเก็บข้อมูล และติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานว่า กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปดูสินค้าและบริการตัวไหนบ้าง เคยเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์กี่หน้า และหน้าไหนบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้ว Facebook Pixel จะเก็บข้อมูลจาก Page Views (ผู้ที่เข้ามายังหน้าเว็บไซต์), Add to Cart (ผู้ที่หยิบสินค้าลงตะกร้าทั้งแบบจ่ายและยังไม่ได้จ่ายเงิน) Purchase (ผู้ที่เคยซื้อสินค้าจากแบรนด์เราไปแล้ว) ทั้งนี้ Facebook Pixel จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ใครจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำแคมเปญโฆษณาบน Facebook ในอนาคต

 

 

ผศ.ดร.เอกก์ เตือนว่า "อย่าใช้ Facebook Ad Manager เท่านั้นในการยิงโฆษณา บางคนคิดว่า โปรโมทหรือบูสท์โพสต์ก็เพียงพอแล้ว แต่นั่นมันคือวิธีโบราณและต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่การใช้ Facebook Pixel นี้จะเป็นเครื่องมือในการติดตามลูกค้า ที่สำคัญ สามารถติดตามพฤติกรรมลูกค้าได้นานสูงสุดถึง 180 วัน ซึ่งวิธีใช้สามารถค้นหาดูวิธีการใช้ได้จาก YouTube นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมืออีกตัวที่ทำหน้าที่ได้เหมือนกันกับ Facebook Pixel คือ Google Tag Manager (GTM) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณทำงานด้านการติด Tag ต่างๆ ได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น (แต่หากจะไม่ใช้ GTM ในการติด Tag ต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เราจะต้องทำคือจะต้องทำการนำโค้ด Tag ที่ได้มาเข้าไปใส่บนเว็บไซต์ในระบบหลังบ้านเองทีละหน้าๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อนและค่อนข้างใช้เวลา

ที่มา - www.primal.co.th) ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้คือการจิกลูกค้าแบบไม่รู้ตัวและสุดท้าย ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อสินค้าในที่สุด"

 

 

การตลาดเจาะกลุ่ม

การทำตลาดยุคนี้ จะขายแบบเหวี่ยงแห แล้วบอกขายทุกคน ทุกกลุ่มไม่ได้แล้ว "เพราะยิ่งเราขายทุกคน ลูกค้ายิ่งจำเราไม่ได้" ผศ.ดร.เอกก์ ชี้ประเด็น

"แบรนด์จะต้องเลือกโฟกัสกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้มากขึ้น เช่น กลุ่มแม่และเด็ก ปัจจุบันก็มีสินค้าที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เช่น จี้สำหรับคุณแม่และลูกน้อง เพื่อแสดงความเป็นแม่, เพื่อความเป็นสิริมงคลกับครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี ฯลฯ ที่สำคัญ กลุ่มเฉพาะทำนองนี้ได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนแล้วบนโลกโซเชียลมีเดีย อยู่ในห้องเดียวกัน เพจเดียวกัน เพื่อพูดคุยหรือแชร์ประสบการณ์ด้วยกัน เช่น เพจ CountUp - เค้าท์อัพ @CountUp.life  ปกติเรามักจะได้ยินคนบอกว่า ถ้าอายุเกิน 50 ต้อง Count Down แต่ไม่จริง คนอายุเกิน 50 ไม่อยากแก่ ฉะนั้น ก็ต้อง Count Up แล้วเพจนี้มีคนมารวมกันถึง 2 แสนคนเพื่อทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน การเห็นคนเฉพาะกลุ่มที่มารวมตัวกันนี้ละจะทำให้เราสามารถสร้างสินค้าเฉพาะกลุ่ม และเข้ามาพบเจอลูกค้าได้ ที่สำคัญ เราจะสามารถ 'ขายได้ และ ขายสนุก' มากขึ้นในวันที่คนไม่ยอมออกจากบ้าน แต่ยังมองที่โซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย"

 

 

การตลาดจุนเจือสังคม

"ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก การตัดต้นทุนขององค์กรยิ่งทำได้เท่าไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับธุรกิจขององค์กรมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้นทุนที่ต้องพยายามตัดให้น้อยที่สุด คือ การตัดต้นทุนในส่วนของ พนักงาน  เนื่องจากในธุรกิจหรือองค์กรที่ยังทำงานอยู่นั้นเรายังดูแลพนักงานและครอบครัวของคนเหล่านี้ด้วย

 

นอกจากนี้ ในการทำธุรกิจต้องไม่มุ่งแต่จะขายสินค้าอย่างเดียว แต่ต้องให้ความรู้กับลูกค้าด้วย เช่น สำหรับธุรกิจอัญมณีก็อาจจะให้ความรู้เกี่ยวกับการทำความสะอาดอัญมณี การให้ความรู้เรื่องวัคซีน หรือทำอย่างไรจึงจะป้องกันโควิด-19 ได้ โดยที่ไม่ทำลายคุณภาพของเครื่องประดับ ฯลฯ ทั้งนี้ แบรนด์/องค์กรจะต้องดูแลคนของตนเองแล้วก็ต้องดูแลสังคมด้วย และในการทำการตลาด จะต้องทำให้สังคมและธุรกิจเดินหน้าไปด้วยกัน"

 

ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวในตอนท้ายว่า

ในยุคโควิด-19 นี้โลกจะไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม แต่ทักษะและกลยุทธ์ทางการตลาดที่กล่าวมาข้างต้นจะยังคงได้อย่างต่อเนื่องอีกสักพักใหญ่ แม้จะไม่มีโควิด-19 แล้วก็ตาม"

 


บทความจากนิตยสารมาร์เก็ตพลัส ฉบับ 137 เดือนสิงหาคม 2564


 

[อ่าน 4,559]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SCB EIC ชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะผ่านจุดต่ำสุดช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
Seamless Living, One Tap Away: How Meituan Powers the Lazy Lifestyle
สร้าง Personal Branding อย่างไรให้ปัง
Technology: The Ultimate Life-Hack or The Ultimate Laziness Trap ?
Freshket: The Lazy Entrepreneur's Best Friend for Restaurant Success!
เจาะลึกบทบาทผู้ผลิตไฟฟ้า เมื่อโลกเกิดภัยพิบัติ
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved