กสิกรไทย เปิดตัว บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (Beacon Venture Capital) เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพภายใต้แนวคิด The Next Building Block ตั้งกองทุน 1,000 ล้านบาท หนุนพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินที่ส่งเสริมกลยุทธ์ของธนาคาร ประเดิมเป็นธนาคารไทยรายแรกที่ลงทุนในรูปแบบ Venture Capital (VC) แก่สตาร์ทอัพไทย “FlowAccount” ตั้งเป้าปี 60 เน้นลงทุนสตาร์ทอัพโดยตรง 3 – 5 แห่ง และลงทุนในกองทุน VC อื่น ๆ 2 – 3 แห่ง
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า "จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการบริการดิจิทัล แบงกิ้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของธนาคารในอนาคต ธนาคารกสิกรไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนธุรกิจของธนาคารในด้านต่าง ๆ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน"
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดตั้ง บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon Venture Capital Co.,Ltd.) หรือ Beacon VC โดยธนาคารถือหุ้น 100% เพื่อร่วมลงทุนในกองทุน VC หรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องและสามารถรองรับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
Beacon VC มีวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท และมีนโยบายการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่การลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ทั้งสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ และการลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ชั้นนำ โดยมีนายธนพงษ์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เปิดเผยว่า "ในปี 2560 บริษัทฯ มีแผนการลงทุนโดยตรงในฟินเทคสตาร์ทอัพประมาณ 3–5 แห่ง และลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนประมาณ 2–3 แห่ง โดยบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัลจะเป็น Corporate Venture Capital ของธนาคารแห่งแรกของไทยที่ได้เลือกลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุน (VC) ในสตาร์ทอัพไทย ได้แก่ บริษัท FlowAccount โดยจะเป็นผู้ลงทุนหลัก (Lead Investor) พร้อมกับนักลงทุนอื่นอีก 3 ราย ซึ่ง FlowAccount เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพที่ได้ร่วมงานกับทางธนาคารอยู่แล้ว มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบจัดการบัญชีของเอสเอ็มอี ซึ่งระบบบัญชีของ FlowAccount สามารถเชื่อมข้อมูลบัญชีของบริษัทเข้ากับบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร และบริการธนาคารทางมือถือสำหรับนิติบุคคล (K-PLUS SME) ได้ด้วย จึงเป็นความร่วมมือที่ลงตัวทั้งธนาคาร ลูกค้า และบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพ และทาง Beacon VC ยังมีการลงทุนผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุน (VC Fund) ในสิงคโปร์ชื่อ Dymon Asia ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนเงินร่วมลงทุนชั้นนำของเอเชียที่เน้นลงทุนทางด้านฟินเทค นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีแผนลงทุนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 2 ดีล รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 200 ล้านบาท"
วัตถุประสงค์หลักในการลงทุนของ บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล คือ การสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนให้แก่ธนาคาร โดยมีกลยุทธ์ คือ การเพิ่มคุณค่า (Value Proposition) ให้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร การลดระยะเวลาหรือต้นทุนในการพัฒนานวัตกรรม การใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้บุกเบิกการลงทุน (First Mover Advantage) เพื่อเป็นการเข้าถึงและสร้างความเป็นผู้นำทางนวัตกรรมให้แก่ธนาคาร และการพัฒนาความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรและพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของธนาคาร
ธนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตราสัญลักษณ์ของ Beacon VC คือประภาคารที่ส่องแสงนำทางให้ฟินเทคและสตาร์ทอัพที่เป็นพันธมิตร และเมื่อรวมกับเทคโนโลยีดิจิทัลของ KBTG ผนวกกับความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบ Digital Partnership ที่มีฐานข้อมูลลูกค้าของธนาคารฯ กว่า 14.2 ล้านรายจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทันสมัย เหมาะกับความต้องการของลูกค้า ในระยะเวลา (time to market) ที่รวดเร็ว"
"ทั้งนี้จากแนวคิด The Next Building Block ในการเติมเต็มให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ทั้ง 3 หน่วยงานของธนาคาร คือ Digital Partnership KBTG และ Beacon VC จะช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโต มั่นคง และนำความยั่งยืนมาสู่ธนาคารในระยะยาว" ขัตติยา กล่าวเพิ่มเติม
การจัดตั้ง บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ด้านดิจิทัล (Strategic Digital Capability) ให้แก่ธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ก่อตั้ง KBTG เพื่อมุ่งคิดค้นนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี และจับมือฟินเทคและเทคสตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมทางการเงินรองรับดิจิทัล แบงกิ้งที่เติบโตแบบก้าวกระโดด และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติให้ KBTG เข้าร่วมทดสอบบริการการเงินรูปแบบใหม่ใน Regulatory Sandbox เป็นรายแรก โดยเป็นบริการที่ดึงเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการพิจารณาออกหนังสือค้ำประกันให้ลูกค้า