ถ้าจะพูดตามหลักเศรษฐศาสตร์ ผมว่าของทุกอย่างล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของที่จับต้อง ซื้อหา บริโภคกันอยู่ทุกๆ วัน ยิ่งหากเป็นพ่อค้าแม่ขาย ก็ยิ่งต้องสะระตะให้ดี ด้วยใครจะได้กำไรมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด อย่างบ้านผมเองทำการค้าครับ เราพยายามตีโจทย์ทุกปี ทำเรื่องนี้ให้ต่ำที่สุด เพื่อให้ของไม่มีราคาสูง จนผู้บริโภคเอื้อมไม่ถึ
มีคนโยนถามผมว่า แล้วชีวิตมีต้นทุนหรือไม่? บริหารจัดการได้ไหม?
ทัศนะของผม ชีวิตมีต้นทุนแน่นอน แต่ละคนต่างก็เกิดมาด้วยเสบียงที่ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาสบาย อู้ฟู่ บางคนเกิดมาลำบาก ขัดสน นี่ยังไม่นับรวมหน้าตา ผิวพรรณ ความสวยงาม ที่ตอนเกิด ก็ได้มาไม่เหมือนกันด้วย ทั้งหมด หล่อหลอม รวมให้พื้นฐานต้นทุนตั้งต้น แตกต่างกันตามบุญที่ทำ กรรมที่แต่ง แต่กระนั้น เสน่ห์ของต้นทุนชีวิต อยู่ตรงที่สามารถเพิ่มได้ จัดการได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแวดล้อม บริบทการเลี้ยงดูของพ่อแม่ การศึกษา และเพื่อนฝูงที่เราคบ เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็เลือกที่จะเป็นได้ ฉันใด ก็ฉันนั้น
ในเรื่องที่คล้ายๆ กัน Bill Gates ก็เคยพูดไว้
“If you are born poor, it’s not your mistake, but if you die poor, it’s your mistake”
ดังนั้น โอกาสไม่มี ก็ต้องแสวงหา เพราะการจนโอกาสถือเป็นเรื่องที่เสียหาย และไม่ควรให้เกิดอย่างยิ่งในชีวิตเรา
ส่วนตัว ผมมองว่า ‘ความรู้’ และ ‘บุคลิกภาพ’ คือต้นทุนเสริมที่ควรหาให้ตัวเอง โดยอย่างแรก ยิ่งมีมาก ก็ยิ่งดี เป็นการเพิ่มโอกาสจะสร้างงาน ทำรายได้ และต่อเงินให้ร่ำรวย มีกินมีใช้ไม่รู้จบ ดังนั้น อย่านิ่ง ต้องพุ่งเข้าชน วิ่งเข้าใส่ ทุกโอกาส ด้วยเป้าหมายยังอีกไกลในชีวิต ผมแนะนำ ให้เราเอาตัวเข้าไปคบหาสมาคม ไปแวดล้อมอยู่กับคนที่มีความรู้ หรือคนเก่งๆ ที่สามารถพัฒนา สอน หรือโค้ชเราได้ รวมถึงต้องหมั่นอ่าน หมั่นฟัง ทำตัวให้เป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อเพิ่มพูน รับน้ำใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง
ถ้าลองสังเกตดู ในชีวิตเรามักจะสัมผัสกับหลายๆ คนที่ตอนเจอ หน้าตาธรรมดาๆ แต่เวลาพูด หล่อและสวยมาก จากวิธีคิด คำพูดคำจามีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก อีกเรื่องก็คือบุคลิกภาพ ที่ผมถือเป็นต้นทุนชีวิตที่เราเสริมได้เช่นกัน ฉันใด ฉันนั้น ไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องสวยมาก หากแต่บุคลิกภาพดี สูงน้อยหน่อย แต่ก็ดูดีได้ อีกสิ่งสำคัญ ที่ผมอยากพูดถึง ก็คือต้นทุนชีวิตที่เกี่ยวกับด้านจิตใจ
ผมเคยสัมภาษณ์น้อง เพื่อเข้างานคนหนึ่ง และทิ้งท้ายก่อนจบว่า เจอสัมภาษณ์หนักๆ แบบนี้ รู้สึกอย่างไร ท้อหรือไม่?
“ไม่เลยครับพี่ ชีวิตผมผ่านมาตั้งเยอะ บ้านก็เคยถูกเวนคืน เงินก็ต้องหาเพื่อเรียนเองจนจบ เรื่องแค่นี้เล็กน้อยมาก”
คำตอบนี้ ไม่ทำให้ผมไม่ผิดหวัง และคิดต่อว่าคนต้นทุนต่ำๆ ไม่ได้แปลว่าต้นทุนจิตใจจะน้อยไปด้วย ในแววตาซ่อนด้วยความอดทน จิตวิญญาณของนักต่อสู้ ฉะนั้น จิตใจต้องดี ขออย่าท้อ อย่าอ่อนแอ อย่าแพ้เป็นอันขาด ด้วยความอ่อนแอจะกัดกร่อนทำให้เราไม่สู้ ห่อเหี่ยว ผิดหวัง และยิ่งทำให้ชีวิตตกต่ำแย่ลงไปอีก หนำซ้ำ ความอ่อนแอทางหัวใจ อาจทำให้เราก้าวเดินไปพบกับสิ่งผิดๆ ในชีวิต ที่เป็นเหมือนมัจจุราช กระชากชีวิตเราลงเหวด้วย ลองศึกษาอ่านดูนะครับ ประวัติซีอีโอหลายๆ คน มีไม่น้อยเลยที่ทุนเดิม เข้าข่ายต้นทุนไม่สูง แต่เขาหรือเธอก็ไม่ท้อ สู้จนมีวันนี้ ตราบที่โครงสร้างประชากรไทย ยังเป็นแบบพีระมิดมีคนรวยเป็นยอด คนต้นทุนไม่สูงมีเป็นส่วนใหญ่ เราจึงต้องให้กำลังใจตัวเอง
จำง่ายๆ ครับ “ต้นทุนต่ำ เป็นผลดี ตรงที่ไม่มีอะไรจะให้เสียอีกแล้ว อะไรที่เดินเข้ามาในชีวิต จึงถือเป็นกำไรของการเรียนรู้ทั้งสิ้น” ไม่ใช่ผมจะไม่เชื่อเรื่องชะตาฟ้าลิขิต แต่สิ่งที่ผมเชื่อมากกว่าคือ ชีวิตขีดเขียนได้ด้วยตัวเราเอง
ต้นทุนเดิมต่ำ แต่ถ้าทำดีๆ ชีวิตก็มีกำไรนะครับ
คอลัมน์ // Thumbs Up
ผู้เขียน // ชัยพล กฤตยาวาณิชย์
MarketPlus Magazine-June 2017